|
|
สาระสำคัญ
"การตรวจวัด" หมายความว่า การเก็บตัวอย่างสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายเพื่อนำมาวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
หมวด 1 : บททั่วไป
นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
- กรณีที่ระดับความเข้มข้นของสารเคมี มีระดับเกินขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมี : ให้นายจ้างใช้มาตรการกำจัด หรือ ควบคุมสารเคมีอันตรายทางวิศวกรรมและการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม เพื่อลดระดับความเข้มข้นของสารเคมีไม่ให้เกินขีดจำกัดที่กำหนด พร้อมทั้งตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย ภายใน 30 วันนับจากวันที่ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อย
-กรณีผลตรวจสุขภาพของลูกจ้างมีความผิดปกติหรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย : ให้นายจ้างตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย ภายใน 30 วัน หลังจากที่นายจ้างได้รับทราบผลความผิดปกติ หรือ เจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
-กรณีมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ชนิดหรือปริมาณของสารเคมีอันตราย เครื่องจักร อุปกรณ์ กระบวนการผลิต วิธีการทำงาน หรือวิธีการดำเนินการใด ๆ ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทำงาน และสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตราย : ให้นายจ้างดำเนินการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย ภายใน 30 วันนับจากวันที่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง
หมวด 2 : การตรวจวัด และการวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ
นายจ้างต้องใช้วิธีการ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานสากล หรือ เป็นที่ยอมรับ โดยอ้างอิงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังนี้
1) สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH)
2) สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย สหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration : OSHA)
3) สมาคมนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐ สหรัฐอเมริกา (American Conference of Government Industrial Hygienists : ACGIH)
4) สมาคมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (Japan Industrial Safety and Health Assocciation : JISHA)
5) องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO)
6) สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
7) สมาคมการทดสอบและวัสดุอเมริกา (America Society for Testing and Material : ASTM)
หมวด 3 : คุณสมบัติของผู้ดำเนินการตรวจวัดและผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ
- ผู้ดำเนินการตรวจวัด ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายนี้กำหนด
- ผู้ดำเนินการวิเคราะห์สารเคมีอันตรายทางห้องปฏิบัติการ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายนี้กำหนด
หมวด4 : การจัดทำรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย
- นายจ้างจัดให้มีการรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายที่ได้รับการรับรองจากผู้ดำเนินการตรวจวัด และส่งรายงานฉบับนี้ให้กับ อธิบดี หรือ ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ภายใน 15 วันนับจากวันที่ทราบผล ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
ศึกษากฎหมายฉบับเต็ม และแบบรายงานผลตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตราย ตามไฟล์แนบท้ายนี้
![]() |
ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
โทร.: 0 2218 5222, 09 9132 6622 (ในวันและเวลาราชการ) 08 9152 2626 (เฉพาะกรณีฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง) | |
อีเมล: shecu@chula.ac.th |