จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่สถานบันเทิงเมาท์เทน บี (Mountain B) ผับ ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย (ยอด ณ วันที่ 5 กันยายน 2565) บาดเจ็บมากกว่า 41 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยลักษณะของเหตุการณ์ค่อนข้างใกล้เคียงกับกรณีไฟไหม้ซานติกาผับ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 อีกทั้ง จากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ทำให้หลาย ๆ คน หวนรำลึกถึงกรณีเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เมื่อปี 2536 ซึ่งจัดเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้รุนแรงครั้งใหญ่ในประเทศซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยผ่านการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาทั้งสามข้างต้น นอกจากจะช่วยให้เกิดการตระหนักทราบด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยแล้ว ยังช่วยตอกย้ำว่าอุบัติเหตุเพลิงไหม้นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ความเสียหายหรือผลกระทบจากการเกิดเพลิงไหม้นั้นมีมูลค่าที่มาก (ทั้งทรัพย์สิน ร่างกายและจิตใจ) การทราบถึงสาเหตุของปัญหาและการดำเนินการเชิงป้องกัน รวมทั้งการมีความพร้อมเพื่อตอบโต้เหตุฉุกเฉินจะช่วยขจัดหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้
ตารางแสดงข้อมูลของเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ (2536) ไฟไหม้ซานติกาผับ (2552) และไฟไหม้เมาท์เทน บี (Mountain B) ผับ (2565)
| ไฟไหม้ โรงงานเคเดอร์1 (โรงงานตุ๊กตา) | ไฟไหม้ซานติกาผับ2-4 | ไฟไหม้เมาท์เทนบี (Mountain B)2-4 ผับ |
วันที่เกิดเหตุ
| 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536
| 1 มกราคม พ.ศ.2552
| 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565
|
สถานที่ตั้ง
| อ.สามพราน จ.นครปฐม
| เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
| อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
|
ความเสียหายที่เกิดขึ้น
| มีจำนวนผู้เสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บ 469 คน
| มีจำนวนผู้เสียชีวิต 67 คน บาดเจ็บสาหัส 34 คน และบาดเจ็บอีก 72 คน
| มีจำนวนผู้เสียชีวิต 22 คน และบาดเจ็บ 43 ราย
|
สภาพการณ์ก่อนเกิดเหตุ
| - ก่อนที่จะเกิดเหตุ โรงงานเคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 3 ครั้ง โดยสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 โดยได้สร้างความเสียหายให้กับอาคาร 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้จัดเก็บฝ้ายและวัสดุโพลีเอสเตอร์
- โรงงานมี 4 อาคาร โดยในแต่ละอาคารมี 4 ชั้น
| - มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1,200 คนในวันที่เกิดเหตุ (พื้นที่ของซานติก้า สามารถจุคนได้เพียง 500 คนเท่านั้น)
- สถานบันเทิงเป็นอาคารเดี่ยว พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร มีสองชั้นและมีชั้นใต้ดิน
- มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต มีการต่อเติมดัดแปลงใช้เป็นสถานบันเทิง สถานบันเทิงมีประตูเข้าออกทั้งหมด 4 ประตู โดยมีประตูทางเข้าออกหลักเพียง 1 ประตู (ซึ่งมีขนาดไม่ได้ตามมาตรฐานที่สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ) ประตูที่เหลือเป็นประตูที่ใช้สำหรับการเข้าออกเพื่อใช้ในกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น สูบบุหรี่ และประตูสำหรับแขกวีไอพี (VIP)
- ไม่มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ไม่มีป้ายแสดงชี้บ่งทางหนีไฟอย่างชัดเจน (สำหรับประตูทางหนีไฟจะรู้กันเองเพียงแค่พนักงานและเจ้าของกิจการ) ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
| - มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณเกือบ 100 คน ในวันที่เกิดเหตุ (เป็นช่วงที่สถานบริการกำลังจะปิดให้บริการ)
- ตัวอาคารหน้ากว้าง 20 เมตร ยาวมากกว่า 30 เมตร สูง 5-6 เมตร บริเวณภายในอาคารติดตั้งโฟมกันเสียง โดยรอบ
- ไม่มีใบอนุญาตในการเปิดสถานบันเทิง (เดิมเป็นร้านอาหาร โดยต่อมาต่อเติมเป็นสถานบันเทิง)
- มีการออกแบบประตูเป็นแบบ 2 ชั้น เพื่อป้องกันเสียงจากข้างในไม่ให้ออกมาข้างนอก ความกว้างของประตูประมาณ 80 ซม. ด้านหลังเวทีจะมีประตูเล็กอีก 1 ประตู แต่ล็อกเอาไว้ตลอดเวลา จะเปิดประตูแค่ในบางกรณี เช่น การเปิดรับวงดนตรีเข้ามาภายในร้าน
- ไม่มีป้ายแสดงชี้บ่งทางหนีไฟอย่างชัดเจน
|
รายละเอียดของเหตุการณ์ | - คนงานจำนวนมาก กำลังทำงานอยู่ภายในอาคาร โดยไม่ทราบว่าด้านล่างของอาคารที่ 1 เกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ดับเพลิงโดยใช้ถังดับเพลิง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพลิงไหม้ยังคงลุกลามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภายในโรงงานมีเชื้อเพลิงและวัสดุที่ติดไฟจำนวนมากเก็บไว้ เช่น เศษผ้า และวัสดุไวไฟ)
- ในช่วงแรกของการเกิดเพลิงไหม้ พนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ที่บริเวณชั้น 3 และ 4 ของอาคารที่ 1 ยังไม่ทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นเนื่องจากอาคารที่ 1 ไม่มีการติดตั้งระบบสัญญานแจ้งเหตุไฟไหม้
- หลังจากที่พนักงานในอาคารที่ 1`ทราบว่ามีเพลิงไหม้เกิดขึ้นแล้ว ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องยังไม่อนุญาตให้พนักงานสามารถอพยพออกนอกอาคารได้ เนื่องจากคาดว่าจะสามารถจัดการกับเพลิงไหม้ได้ อีกทั้งกลัวว่าพนักงานอาจจะแอบขโมยตุ๊กตาออกนอกอาคาร
- แต่เมื่อไฟไหม้ลุกลามเพิ่มมากขึ้นและประเมินว่าไม่สามารถจัดการกับไฟได้แล้ว จึงอนุญาตให้พนักงานภายในอาคารสามารถอพยพหนีไฟได้
- เนื่องจากไฟลุกลามและแผ่ขยายเป็นวงกว้าง เป็นเหตุให้สามารถอพยพหนีไฟได้จำกัด (เส้นทางอพยพเหลือเพียงเส้นทางเดียว) อีกทั้ง บันไดหนีไฟมีความคับแคบ ทางออกมีทางเดียว และคนอพยพหนีไฟมีจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความวุ่นวายในการอพยพหนีไฟ
- ไฟไหม้มีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นซึ่งปิดกั้นทำให้พนักงานไม่สามารถหนีออกนอกอาคารได้ และเป็นเหตุให้พนักงานบางส่วนซึ่งติดอยู่ภายในอาคาร ตัดสินใจกระโดดออกนอกอาคารจากที่สูง (ซึ่งบางส่วนเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง)
- อาคารที่ 1 เกิดพังทลายลงมาในเวลาต่อมา (เนื่องจากเหล็กโครงสร้างที่ใช้งานอาจไม่ได้มาตรฐาน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ทนไฟได้น้อย) เพลิงไหม้ลุกลามต่อไปยังอาคารที่ 2 และที่ 3 ที่อยู่ข้างเคียง แต่เนื่องจากอาคารทั้งสอง มีระบบสัญญานแจ้งเหตุไฟไหม้ อีกทั้งพนักงานทราบว่ามีเพลิงไหม้เกิดขึ้นในอาคารที่ 1 จึงทำให้พนักงานสามารถอพยพหนีไฟได้ทัน ก่อนที่อาคารทั้งสองจะพังทลายลงมาในเวลาต่อมา
| - ในช่วงการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ ทางสถานบันเทิงมีการจุด special effect กลางเวที ร่วมกับการแสดงของนักร้อง จากนั้นไม่นาน สังเกตเห็น ประกายไฟบางส่วนเกิดขึ้นที่บริเวณเพดาน (โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่าเป็นการแสดง) ไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็วเนื่องจากวัสดุที่ใช้ตกแต่ง เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น ผนังโฟมที่ซับเสียง จากนั้นระบบไฟฟ้าภายในอาคารก็เริ่มดับลง
- ไฟลุกไหม้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีควันไฟเกิดขึ้นในปริมาณมาก นักท่องเที่ยวพยายามหนีตายออกนอกอาคาร โดยใช้ประตูด้านหน้าซึ่งมีขนาดเล็ก มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถหนีออกนอกอาคารได้
| - เกิดไฟลุกไหม้ที่บริเวณหลังคาในช่วงที่สถานบริการกำลังจะปิดให้บริการ และมีเสียงระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้ง ไฟลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากวัสดุภายในเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น โฟมซับเสียง โดยลุกลามไปรอบอาคาร
- รถดับเพลิงจากหลายหน่วยต่าง ๆ มากกว่า 20 คัน เข้าควบคุมเพลิง
- เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุมีทางเข้าออกที่สามารถใช้งานได้เพียงทางเดียวจึงเกิดความโกลาหลในการหนีไฟเพื่อออกนอกอาคาร
- พบผู้เสียชีวิตบางส่วนที่บริเวณประตูทางออกและในห้องน้ำ
|
สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ | สาเหตุของปัญหายังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือพนักงานสูบบุหรี่
| ข้อมูลจากกล้องวงจรปิด แสดงให้เห็นว่า special effect บริเวณกลางเวทีและจากระบบไฟฟ้า อาจเป็นสาเหตุในการเกิดเพลิงไหม้
| อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรที่บริเวณฝ้าเพดาน มีประกายไฟเกิดขึ้นสัมผัสวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น โฟมและฟองน้ำ (วัสดุดูดซับเสียง)
|
ตัวอย่าง VDO | Thairath Online (2020), 3 นาทีคดีดัง: เคเดอร์ ไฟนรก ขัง..ตาย [online video] Available at: https://www.youtube.com/watch?v=LExW-2MpP-0 [Accessed 6 September 2022].
| TNAMCOT (2015) ข่าวดังข้ามเวลา : เคาท์ดาวน์มรณะ ซานติก้าผับ [online video] Available at: https://www.youtube.com/watch?v=gtK6TWWl5MQ [Accessed 6 September 2022].
| max457 (2022) [online video] Available at: https://twitter.com/JiaRuiiji/status/1555291360483127296 [Accessed 6 September 2022].
|
จากตารางข้อมูลเปรียบเทียบเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ (2536) ไฟไหม้ซานติกาผับ (2552) และไฟไหม้เมาท์เทน บี (Mountain B) ผับ (2565) พบว่า สถานประกอบการทั้งสาม มีข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัยที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ยังขาดความตระหนักทราบด้านความปลอดภัย (เป็นอย่างมาก) อาทิ ขาดแนวทางในการป้องกันและการตอบโต้เมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย ขาดการวางแผนและซ่อมบำรุงอุปกรณ์และเครื่องมือ ขาดการบริหารความเสี่ยงทำให้ไม่ทราบ/และละเลยอันตรายจากสิ่งคุกคาม (hazard) ในสถานที่ทำงาน (เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร) ขาดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขและป้องกันการเกิดอัคคีภัยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้า (preventive actions) ในกรณีของไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ รวมทั้ง ไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบและข้อบังคับทางกฎหมายจากทางรัฐ (เช่น โครงสร้าง สถาปัตยกรรมและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ไม่เหมาะสม เช่น ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ)
จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน6 พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ในการเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการ (รวมทั้งสถานที่ทำงาน) รวมทั้ง แนวทางการควบคุมและป้องกันในการเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการ โดยมีข้อสรุปที่สำคัญดังนี้
การเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการ (รวมทั้งสถานที่ทำงาน) สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจาก
- ประกายไฟจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด หรือการใช้งานไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น สายไฟที่ฉนวนหุ้มเปื่อย การใช้สะพานไฟหรือฟิวส์ที่ไม่ถูกขนาด
- การเชื่อมหรือการตัดโลหะ ซึ่งจะมีการก่อกำเนิดประกายไฟ หากประกายไฟสัมผัสเชื้อเพลิงก็จะเกิดการลุกไหม้ขึ้น
- การสูบบุหรี่หรือการจุดไฟ ในบริเวณที่มีเชื้อเพลิงหรือไอระเหยของสารไวไฟ หรือวัสดุไวไฟ
- ประกายไฟที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าสถิต หากไฟฟ้าสถิตสัมผัสเชื้อเพลิงก็จะเกิดการลุกไหม้ขึ้น
- การลุกไหม้ด้วยตนเอง เช่น สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง เมื่อมีการสะสมจะเกิดความร้อนขึ้นได้ด้วยตนเองจนกระทั่งถึงจุดติดไฟ และสามารถลุกไหม้ได้
แนวทางการป้องกันและควบคุมอัคคีภัยในสถานประกอบการ (รวมทั้งสถานที่ทำงาน)
- ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับงาน และมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ
- การเชื่อมหรือการตัดโลหะ ควรจัดแยกห่างจากพื้นที่ ๆ อื่น ทำงานในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทที่ดี ไม่มีเชื้อเพลิงอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง มีการป้องกันการกระเด็นของประกายไฟ (ตัวอย่างเช่น การจัดให้มีใบอนุญาตให้ทำในที่ร้อน (hot work permit))
- ควรห้ามสูบบุหรี่ หรือกำหนดพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่โดยเฉพาะ
- การป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ (มักเกิดขึ้นจากการเสียดสีหรือการถ่ายเทของสารที่ไม่เป็นตัวนำ) สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การต่อสายดิน การต่อกับวัตถุที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับประจุได้
- การป้องกันการเกิดลุกไหม้ได้เอง การเก็บสารเชื้อเพลิงที่อาจเกิดการสันดาปได้ ตัวอย่างเช่น ขยะปนเปื้อนน้ำมันหรือผงสี ควรจัดเก็บในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการเกิดการสันดาปกับอากาศ
- จัดให้มีสัญญาณเตือนภัย ระบบดับเพลิง และเครื่องดับเพลิงที่เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงและมีปริมาณพอเพียงต่อการใช้งาน มีการตรวจสอบให้มีสภาพพร้อมในการใช้งาน
- มีแผนในการป้องกันและระงับอัคคีภัย มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและการอพยพหนีไฟ อย่างน้อยปีละครั้ง
ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากข้อมูลทางสถิติของอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ในช่วงปี 2562-2565 (จากฐานข้อมูลการรายงานอุบัติการณ์ของศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) พบว่ามีอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น 15 เหตุการณ์ โดยแบ่งเป็นอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงในระดับน้อย ปานกลางและมาก5 คิดเป็น 53% (8 เหตุการณ์), 40% (6 เหตุการณ์) และ 7% (1 เหตุการณ์) ตามลำดับ
- สำหรับอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่มีความรุนแรงในระดับมาก (โดยทั่วไป มีมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านบาท) มีเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เป็นเพลิงไหม้ที่บริเวณสถานีทำงาน (โต๊ะทำงาน) ส่งผลให้ระบบพ่นน้ำอัตโนมัติทำงาน และปลดปล่อยน้ำออกมาในปริมาณมาก และสัมผัสกับอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของลิฟท์ทำให้เกิดความเสียหาย
- สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่มีความรุนแรงในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ชำรุด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรืออุปกรณ์ เครื่องมือมีความร้อนสะสม หรือทำให้อุปกรณ์ เครื่องมือ ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ ตัวอย่างของเหตุการณ์ เช่น ตู้อบไหม้ เครื่อง fax ไหม้ พลาสติกครอบหลอดไฟ (acrylic light cover) เกิดลุกไหม้ battery ที่ charge เกิดการลุกติดไฟ ตัวกรอบพลาสติกของพัดลมดูดอากาศลุกไหม้ เป็นต้น
การวางแผนและดำเนินการเพื่อตรวจสอบซ่อมแซมและบำรุงรักษา อุปกรณ์และเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ การบริหารความเสี่ยงในสถานที่ทำงาน การมีแผนในการป้องกันและระงับอัคคีภัย การฝึกซ้อมดับเพลิงและการอพยพหนีไฟ รวมทั้งการปฏิบัติแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยฯ6 ตามประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=117) จะสามารถช่วยป้องกันและลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งจะก่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ให้ทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติงาน ส่วนงานและมหาวิทยาลัยได้
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1. Encyclopedia of Occupational Health and Safety (2022). Case Study: The Kader Toy Factory Fire. [online] Iloencyclopaedia.org. Available at: <https://www.iloencyclopaedia.org/part-vi-16255/disasters-natural-and-technological/item/374-case-study-the-kader-toy-factory-fire> [Accessed 6 September 2022].
2. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ (2022). ย้อนรอยไฟไหม้ “ซานติก้าผับ” สู่ "เมาท์เทน บี" คืนมรณะคร่าชีวิตนักเที่ยว. [online] Available at: <https://www.thansettakij.com/insights/535371> [Accessed 6 September 2022].
3. ไทยรัฐออนไลน์ (2022). อาถรรพณ์ 13 ปี ไฟไหม้ซานติก้า เกิดเหตุซ้ำ ”เมาท์เท่น บี” 13 ศพ บทเรียนไม่เคยจำ. [online] Available at: < https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2465292> [Accessed 6 September 2022].
4. กรุงเทพธุรกิจ (2022). "ไฟไหม้ผับชลบุรี" ย้อนเหตุการณ์ 14 ปีความสูญเสียซานติก้าผับ ถึง Mountain B. [online] Available at: < https://www.bangkokbiznews.com/news/1019234> [Accessed 6 September 2022].
5.กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (2021) คู่มือการฝึกอบรม หลักสูตรคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
6. ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ (2020) แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยฯ ตามประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [online] Available at: <https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=117> [Accessed 6 September 2022].